โครงการสถานศึกษาปลอดภัย ปี 2564

ที่มาและความสำคัญ
  มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา บุคลากร ผู้มาปฏิบัติงาน ผู้รับบริการทุกคน และสนับสนุนให้ทุกส่วนงานดำเนินการให้มีความสอดคล้องตามกฎหมาย โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลักดันให้มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ภายในส่วนงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
  ในปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าร่วมกิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัย และสุขภาพอนามัยดี” ประจำปี 2559 โดยได้รับโล่รางวัลดีเด่นจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการเครือข่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีความพร้อมและประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมประกวดสถานศึกษาปลอดภัย ตามเกณฑ์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับโล่รางวัลดีเด่นจำนวน 5 ส่วนงาน ได้แก่ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถาบันโภชนาการ วิทยาลัยนานาชาติ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในปี พ.ศ. 2561 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลดีเด่น 8 ส่วนงาน ได้แก่ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถาบันโภชนาการ วิทยาลัยนานาชาติ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะทันตแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลดีเด่น 11 ส่วนงาน ได้แก่ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถาบันโภชนาการ วิทยาลัยนานาชาติ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และในปี พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลดีเด่น 13 ส่วนงาน ได้แก่ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถาบันโภชนาการ วิทยาลัยนานาชาติ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะศิลปะศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และคณะสาธารณสุขศาสตร์
  จากการดำเนินการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวที่ผ่านมา ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นศักยภาพของส่วนงานในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานจึงสนับสนุนให้ส่วนงานเข้าร่วมทำให้ส่วนงานให้ความสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นในทุกปี เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยฯ พัฒนาระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ภายในส่วนงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อให้ส่วนงานตระหนักถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายในส่วนงาน และพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ภายในส่วนงานให้สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐาน
  2. เพื่อให้ส่วนงานมีแรงบันดาลใจ และรณรงค์ให้เกิดความปลอดภัยภายในส่วนงานมากยิ่งขึ้น
  3. เพื่อให้ส่วนงานที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในส่วนงานมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมโดยการได้รับรางวัลดีเด่นจากกิจกรรมดังกล่าว
สรุปผลการดำเนินงาน (Output)
  1. ระยะเวลาดำเนินการ: มกราคม – กันยายน พ.ศ. 2564
  2. จำนวนส่วนงานที่เข้าร่วม: 19 ส่วนงาน
  3. รางวัลที่ได้รับหลังการตรวจประเมินจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน: รางวัลดีเด่น จำนวน 19 ส่วนงาน

ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน (Outcome)
  1. เพื่อสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดขึ้นภายในส่วนงานให้เห็นเป็นรูปธรรม
  2. เพื่อให้ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดลเกิดเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และภาพแวดล้อมในการทำงานภายในส่วนงานของตนอย่างมีประสิทธิภาพ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างส่วนงาน
  3. เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานศึกษา อันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดลที่เข้าร่วมว่ามีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีในระดับประเทศ