โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ”
ปีงบประมาณ 2564

ที่มาและความสำคัญ
  ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และประกาศนโยบายการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. 2563 เพื่อเสริมสร้างให้เกิดระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยครอบคลุมทุกมิติแก่นักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอก รวมถึงมีการพัฒนาการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยด้านความเป็นเลิศในงานวิจัย โดยการนำองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวิจัย การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับบทบาทของงานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรค พิษจากสัตว์ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีข้อกำหนด ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพมหาวิทยาลัยมหิดล (MU-IBC) ขึ้น โดยมีบทบาทหลักในการวางระบบและมาตรการตรวจสอบ ควบคุมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) รวมถึงกำกับดูแลให้ทุกส่วนงานดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง
  ในการนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety) และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) จึงได้จัดทำหลักสูตร “ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ” โดยมีองค์ประกอบเนื้อหาหลักสูตรอบรมครอบคลุมตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องการรับรองหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการปฏิบัติงานและเพื่อให้ผู้มีหน้าที่ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยตามหลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ กฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ
  2. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้จากการฝึกอบรมไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องปลอดภัยสอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ
สรุปผลการดำเนินงาน (Output)
  - ดำเนินการอบรมในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 2564 โดยจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Webex
  - จำนวนผู้เข้าร่วมอบรม: 167 คน
  - จำนวนผู้สอบผ่าน: 167 คน (ร้อยละ 100) โดยกำหนดเกณฑ์การสอบผ่านที่ร้อยละ 80
  - ประเภทผู้เข้าร่วมอบรม: อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย และนักศึกษา
  - ความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับ: มากที่สุด (4.62)
ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน
(Outcome)
  มหาวิทยาลัยมีระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพสอดคล้องตามประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และประกาศนโยบายการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. 2563 ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการฝึกอบรมหลักสูตร“ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ” ส่งผลให้หน่วยงานมีการพัฒนาการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรค พิษจากสัตว์ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งผู้มีหน้าที่ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยตามหลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงจากการทำงานที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)